ศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย

เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๒ นายจรง ชูกลิ่น และนายถวิล ช่วยเกิด อาศัยอยู่ใน หมู่บ้านคลองท้อนหมู่ที่ ๙ ตำบลควนเกย อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เดินทางไปในป่าแถบหุบเขาช่องคอย ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านโคกสะท้อน ตำบลควนเกย อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ไปทางทิศใต้ประมาณ ๒ กิโลเมตร บุคคลทั้งสองได้พบแผ่นหินกว้างใหญ่อยู่ใกล้กับร่องน้ำระหว่างหุบเขา แผ่นหินดังกล่าวมีความกว้าง ๑.๖๐ เมตร ยาว ๖.๘๓ เมตร หนา ๑.๒๐ เมตร บนแผ่นหินนั้นมีเส้นเป็นรอยลึกขีดไปมาเป็นรูปอักษร นั่นคือศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย ต่อมาวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๒๓ นายอำไพ ขันทาโรจน์ เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช ได้ทราบเรื่องการพบศิลาจารึกหลักนี้ จากพระภิกษุเพิ่ม เจ้าอาวาส วัดหนองหม้อ อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช จึงได้รายงานให้นางกัลยา จุลนวล หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช ทราบ และได้ออกสำรวจจารึกดังกล่าว ๒ ครั้ง คือวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๒๒ และวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๒๓ พร้อมทั้งได้ทำสำเนา และถ่ายภาพศิลาจารึกนั้น และได้ส่งสำเนาจารึกพร้อมภาพถ่ายมายังกองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓ วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓ กองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ได้ส่งสำเนาศิลาจารึกพร้อมภาพถ่ายมายังกองหอสมุดแห่งชาติ เพื่อให้เจ้าหน้าที่งานบริการหนังสือโบราณอ่าน-แปล เมื่อเจ้าหน้าที่อ่าน-แปลเสร็จแล้วได้ส่งคำอ่าน-แปลไปยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๒๓นางจิรา จงกล ผู้อำนวยการกองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ได้นำคำอ่า-แปล ศิลาจารึกหลักนี้ เสนอนายเดโช สวนานนท์ อธิบดีกรมศิลปากร เพื่อทราบเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๒๓ เมื่อนายเดโช สวนานนท์ ได้รับทราบแล้ว จึงได้ให้ใช้ชื่อศิลาจารึกหลักนี้ว่า “ศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย”

จากนั้น ชูศักดิ์ ทิพย์เกษร กับชะเอม แก้วคล้ายจึงได้อ่านและแปลจารึกนี้ เพื่อพิมพ์เผยแพร่ในวารสารศิลปากร ปีที่ ๒๔ ฉบับที่ ๔ (กันยายน ๒๕๒๓) ลักษณะของศิลาจารึกหุบเขาช่องคอยบ่งชัดว่า เป็นการสร้างขึ้นด้วยกรรมวิธีง่ายๆ ไม่ปราณีตบรรจง ใช้แผ่นศิลาธรรมชาติที่มีอยู่ในบริเวณหุบเขานั้น เป็นที่จารึกรูปอักษรขึ้น ๓ ตอน มีความหมายต่อเนื่องกัน แต่ขนาดของรูปอักษรไม่เท่ากัน ตอนที่ ๑ มีขนาดของตัวอักษรสูง ๒๕ เซนติเมตร มีอักษรข้อความ ๑ บรรทัด ตอนที่ ๒ ขนาดของตัวอักษรสูง ๗ เซนติเมตร มีอักษรข้อความ ๔ บรรทัด ตอนที่ ๓ขนาดของตัวอักษรเท่ากับตอนที่ ๒ แต่มีอักษรข้อความเพียง ๒ บรรทัดปัจจุบันศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย ตั้งอยู่ในพื้นที่ บ้านอายเลา หมู่ที่ 5 ตำบลทุ่งโพธิ์ อำเภอจุฬาภรณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช

ดาวน์โหลดไฟล์

ติดต่อสอบถาม อบต.ทุ่งโพธิ์