สาขา ศิลปกรรม
ชื่อภูมิปัญญาท้องถิ่น ผลิตกลองยาว
เจ้าของภูมิปัญญาท้องถิ่น นายคะนึง ศรีพรหม
ที่อยู่ 220/4 หมู่ที่ 4 ตำบลทุ่งโพธิ์ อำเภอจุฬาภรณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช 80130
ความเป็นมา แรงบันดาลใจ
เริ่มจากความชอบการแสดงกลองยาว ตอนเด็ก ๆ หากมีการแสดงที่ไหนก็จะตามไปไปดูตลอด จากนั้นจึงได้เริ่มฝึกการแสดงกลองยาวจนได้ร่วมเป็นสมาชิกของคณะกลองยาว และได้มีโอกาสไปแสดงตามงานต่าง ๆ ที่ได้รับการว่าจ้าง ทั้งภายในและนอกหมู่บ้าน จนกระทั่งมีความคิดที่อยากจะผลิตกลองยาวไว้ใช้ทดแทนกลองอันเก่าที่ชำรุดเสียหายไปตามกาลเวลา จากนั้นเริ่มมีการติดต่อขอซื้อกลองยาวที่ผลิตจากต่างหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัดต่าง ๆ สามารถสร้างเป็นรายได้ให้กับครอบครัวอีกทางหนึ่ง
รายละเอียดของภูมิปัญญา
กลองยาวเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีประวัติความเป็นมาอันช้านาน บรรพบุรุษของชาวไทยได้คิดค้นการละเล่นต่างๆ ที่ต้องใช้กลองยาว ประกอบการให้จังหวะในการตี การเล่นกลองยาว เป็นการเล่นเครื่องดนตรีที่แสดงถึงความพร้อมเพรียงและความสามัคคีในหมู่คณะ เนื่องจากเป็นการเล่นที่ต้องการเสียงและจังหวะให้ความสนุกสนานเพลิดเพลิน สร้างความรักความสามัคคีในหมู่คณะ การเล่นกลองยาวเป็นเล่นที่นิยมอย่างแพร่หลายในจังหวัดต่างๆ โดยจะเล่นในขบวนแห่นาค ขบวนทอดผ้าป่า งานรื่นเริง ปัจจุบันมีการตีกลองยาวในงานต่างๆ เช่น ในวันสงกรานต์ งานวัด การทำกลองยาวมีรายละเอียดขั้นตอนดังนี้
ขั้นเตรียมการ
1. ตัดต้นขนุนที่แก่ ๆ อายุประมาณ 20 ปี กำลังดี
2. ตัดท่อนขนุนเป็นท่อน ๆ ท่อนละ 90 เซนติเมตร
3. เลื่อยเปลือกหรือถากเปลือกออกให้รอบทุกท่อน
ขั้นเตรียมการผลิต
1. ขั้นตอนการทำเอวกลองและฐานกลองด้านล่าง
1.1 นำท่อนขนุนที่ถากเปลือกนอกออกแล้ว วัดตั้งแต่ขอบหน้ากลองลงไปประมาณ 1 ฟุต ใช้ดินสอขีดเส้นรอบไว้ ตั้งแต่ส่วนนี้เรียกว่าเอวกลอง
1.2 เริ่มถากตั้งแต่เอวลงไปถึงปลายฐานด้านล่าง โดยใช้ขวานโยนถากช่วงปลายฐานด้านล่างถากบานออกเพื่อสำหรับกลองวางได้ ความกว้างของหน้ากลองกับฐานกลองเท่ากัน
ขั้นตอนขุดโพรงกลองยาว
2.1 เมื่อถากได้เอวกลองและฐานกลองเสร็จแล้ว วางไม้กลองตั้งขึ้น เพื่อวัดจุดศูนย์กลางของหน้ากลอง และวัดขอบกลองโดยใช้ไม้แบนวางบนหน้ากลอง ตอกตะปู 1 ตัวตรงกลาง และขอบริมหน้ากลอง 2 ตัว ตะปู 2 ตัว ที่ขอบห่างกันประมาณ 2 นิ้ว (ตอกตะปูให้ปลายตะปูโผล่ติดไม้หน้ากลอง)
2.2 หมุนไม้วัดให้รอบหน้ากลอง ปลายตะปูจะขีดหน้ากลองเป็นรอยเส้น ลึกพอประมาณ รอยเส้นจะมีที่ขอบ 2 เส้น และจุดกลาง 1 จุด
2.3 นำสิ่วและค้อน ขุดเนื้อตรงกลางหน้ากลองออก ขุดไปเรื่อย ๆ จนถึงขแบเส้นที่วัดไว้และขุดให้ลึกจนกระทั่งทะลุ ใช้สิ่วตัวเล็ก ไล่ไปตัวกลาง และตัวใหญ่สุด เพราะต้องขุดให้เป็นรูทะลุลงไปถึงฐานล่าง
2.4 เมื่อขุดทะลุแล้วส่วนนี้เรียกว่าโพรงกลองยาว ภายในต้องใช้เหล็กตะขอคมขูดให้เรียบ และสม่ำเสมอทุกส่วนจากด้านบนและจากด้านล่าง
2.5 เมื่อขูดในโพรงกลองเสร็จแล้วตกแต่งภายนอกโดยใช้กบไสให้ได้รูปทรงที่สวยงาม ขัดด้วยกระดาษทรายให้ผิวเรียบ
2.6 เมื่อขัดเสร็จแล้วเจาะตรงขอบเอวกลองให้มีความห่างประมาณ 1 นิ้ว แต่ละช่อง โดยใช้สิ่วเจาะให้ลึกพอประมาณเพื่อสำหรับไว้ร้อยเชือก ขัดกระดาษทรายละเอียดทาแล็คเกอร์ 1 ถึง 2 ครั้ง ทาเฉพาะผิวไม้ด้านนอก แต่งขอบฐานกลองโดยใช้อลูมิเนียมรัดเป็นวงกลมเพื่อไม่ให้ฐานกลองแตกร้าว
ขั้นตอนการใส่หน้ากลองยาว
3.1 หนังวัวตากแดดให้แห้งสนิท นำหนังวัววัดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 15 นิ้ว ตัดเป็นวงกลม โดยให้เหลือขอบ
3.2 เจาะรูหนังวัวขอบที่เส้นขีดไว้ โดยใช้เหล็กเจาะตอกด้วยค้อนตะปู เจาะให้เป็นรูจนรอบวงกลม แต่ละรูห่างกันประมาณ 1 นิ้ว เจาะรู 2 แถว
3.3 เมื่อเจาะรูเสร็จแล้วนำเชือกมาร้อยโดยใส่เหล็กลวดเส้นเล็ก ระหว่างรูที่เจาะไว้ห่างกันประมาณ 1 นิ้ว ลวดใส่สำหรับยึดให้แข็งแรง
3.4 นำลวดมาทำเป็นวงกลมใส่รัดไว้ที่เอวกลอง จะมีบ่าไม้เพื่อไม่ให้ลวดเลื่อนหลุด ใส่ลวดรอบเอวกลองเพื่อสำหรับร้อยเชือกดึงยึดหน้ากลองให้ตึง
3.5 เมื่อใส่ลวดเองกลองเสร็จแล้วนำหน้ากลองที่สานเชือกขอบไว้เสร็จแล้ว วางไว้บนปากหน้ากลอง เพื่อร้อยเชือกดึงยึดหน้ากลองให้ตึง
3.7 เมื่อร้อยเชือกจนรอบกลองแล้ว นำกระดาษทรายละเอียดขัดหน้ากลองให้เรียบและสะอาด
ขั้นตอนการทำให้กลองยาวมีเสียงดังที่ได้มาตรฐาน
4.1 เมื่อขัดหน้ากลองยาวเสร็จแล้ว ผสมขนมโก๋กับน้ำนวดให้เหนียวนิ่ม (สมัยโบราณใช้ข้าวสุกบดผสมขี้เถ้า) เพื่อสำหรับแปะหน้ากลอง และทดลองตีถ้าใส่มากเสียงจะใหญ่ใช้ไม่ได้ ถ้าใส่น้อยเสียงจะแหลมใช้ไม่ได้ ต้องใส่ในระดับพอประมาณ โดยทดลองตีและฟังเสียง (ถ้ากลองยาวไม่ได้นำไปใช้งานให้แกะขนมโก๋ที่แปะไว้ทุกครั้ง เพื่อไม่ให้แมลงแทะหน้ากลอง)
ขั้นตอนการแต่งตัวให้กลองยาว
5.1 การแต่งตัวให้กลองยาว เพื่อความสวยงามโดยจะใส่เสื้อให้ ส่วนใหญ่จะเป็นแบบลวดลายเดียวกันทั้ง 7 ลูก และใส่สายสะพายตามที่ต้องการ เพื่อสำหรับไว้สะพายเวลาเดินตีกลองยาว
ขั้นหลังการผลิต
6.1 ตรวจความละเอียดของชิ้นงานแต่ละชิ้นที่เสร็จสมบูรณ์
6.2 พร้อมนำมาใช้งาน
วัสดุดิบ/อุปกรณ์
1. ต้นขนุนแก่ ๆ อายุประมาณ 20 ปี
2. หนังวัว ใช้หนังวัวเพศเมีย เพราะหนังบางเสียงดี
3. เชือก
4. ขวานโยน หรือขวานถาก
5. เลื่อย
6. ตะขอ
7. ค้อน
8. สิ่ว ขนาดเล็ก กลาง และใหญ่
9. กระดาษทราย
10. ขนมโก๋
11. แล็คเกอร์
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์