ฐานข้อมูลกลุ่มอาชีพและภูมิปัญญาท้องถิ่น
สาขา เกษตรกรรม
ชื่อภูมิปัญญาท้องถิ่น เกษตรทฤษฎีใหม่ (การเพาะเห็ดในถุงพลาสติก)
เจ้าของภูมิปัญญาท้องถิ่น นางสาวสุพัตรา อนุรักษ์
ที่อยู่ 194/5 หมู่ที่ 6 ตำบลทุ่งโพธิ์ อำเภอจุฬาภรณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช 80130
ความเป็นมา แรงบันดาลใจ
อาชีพทำไร่ ทำนา ทำสวนเป็นอาชีพที่ทำกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย มีกินมีใช้ก็เพราะอาชีพนี้ เมื่อพ่อแม่ยกที่ดินให้ ก็ทำกินกันมาตลอด คิดว่าเป็นอาชีพสุจริต ถึงแม้รายได้จะไม่มากมายเท่าไหร่ แต่ก็พออยู่ได้ เหลือยังแบ่งปันให้กับผู้อื่นได้ เราภูมิใจ และมีความสุขในการทำงานนี้ ทำไปเรื่อย ๆ เหนื่อยก็หยุดพัก เพราะเราเป็นเจ้านายตัวเอง ไม่เป็นลูกน้องใคร อยากจะปลูกอยากจะสร้างอะไรก็สามารถทำได้เลย (ถ้ามีเงินพอ) คิดจะส่งต่ออาชีพนี้ไปให้ลูกหลานได้ทำต่อไป
รายละเอียดของภูมิปัญญา
การเพาะเห็ดในถุงพลาสติก
วัสดุและอุปกรณ์
1. อาหารเพาะ
2. หัวเชื้อเห็ด
3. ถุงพลาสติกทนร้อน ขนาด 7 x 11 นิ้ว หรือ 9 x 13
4. คอพลาสติก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 – 1.5 นิ้ว
5. ฝ้าย หรือสำลี ยางรัด
6. หม้อนึ่งไม่อัดความดัน หรือหม้อนึ่งความดัน
7. โรงเรือนหรือสถานที่ บ่มเส้นใย และเปิดดอก
การเตรียมอาหารเพาะเห็ด
สูตรที่ 1:
ขี้เลื่อยแห้ง 100 กิโลกรัม
รำละเอียด 3 -4 กิโลกรัม
ดีเกลือ 0.2 กิโลกรัม
ปูนขาว หรือแคลเซียมคาร์บอเนต 1 กิโลกรัม
หรือเติมด้วยน้ำตาลทราย 2 – 3 กิโลกรัม
ผสมน้ำให้มีความชื้น 60 – 70 เปอร์เซ็นต์
คลุกผสมให้ทั่ว ใช้ทันที
สูตรที่ 2:
ขี้เลื่อยไม้เบญจพรรณ 100 กิโลกรัม
แอมโมเนียมซัลเฟต 1 กิโลกรัม
ปูนขาว 1 กิโลกรัม
หมักกับน้ำนานประมาณ 2 -3 เดือน
ผสมรำละเอียด 3 กิโลกรัม
น้ำตาลทราย 2 กิโลกรัม
ปรับความชื้น 60 -70 เปอร์เซ็นต์
สูตรที่ 3:
ฟางสับ 4 – 6 นิ้ว 100 กิโลกรัม
มูลวัว 25 กิโลกรัม
ยูเรีย 1 กิโลกรัม
รำละเอียด 5 กิโลกรัม
น้ำ
วิธีการ หมักฟาง มูลวัว ยูเรีย และน้ำ กองเป็นรูปสามเหลี่ยม เป็นเวลาประมาณ 15 วันโดยกลับกองทุกๆ 3 – 4 วัน นำมาผสมรำละเอียด คลุกให้ทั่วปรับความชื้นในกองปุ๋ยประมาณ 60 – 70 เปอร์เซ็นต์ หมักไว้ 1 คืน นำไปใช้ได้
สูตรที่ 4:
ฟางสับ 4 – 6 นิ้ว 100 กิโลกรัม
ยูเรีย 1 กิโลกรัม
แอมโมเนียมซัลเฟต 2 กิโลกรัม
หินปูน (CaCo3) หรือปูนขาว (Cao) 1 – 3 กิโลกรัม
ยิบซัม (MgSo4. 7H2O) 2 กิโลกรัม
ดับเบิลซุปเปอร์ฟอสเฟต 3 กิโลกรัม
น้ำ
วิธีการ หมักฟางกับน้ำประมาณ 2 วัน ผสมยูเรียหมักต่อ 2 – 3 วัน ใส่แอมโมเนียมซัลเฟต หมักต่อ 2 – 3 วัน กลับกองหมัก 2 – 3 วัน ใส่ปูนหรือปูนขาวหมัก 2 – 3 วัน นำไปใช้ได้ (ทุกครั้งที่มีการเติมปุ๋ยควรคลุกให้ทั่ว) โดยใส่ปุ๋ยหมักมีความชื้น 60 – 70 เปอร์เซ็นต์
สูตรที่ 5:
ฟางสับ 2 – 3 นิ้ว 100 กิโลกรัม
แคลเซียมคาร์บอเนต 2 กิโลกรัม
รำละเอียด 5 – 8 กิโลกรัม
ผสมน้ำให้มีความชื้น 60 – 70 เปอร์เซ็นต์
หมักส่วนผสมไว้ 8 – 10 วัน โดยกลับกองทุก 2 วัน
สูตรที่ 6:
ฟาง เปลือกถั่วเขียว เศษต้นถั่วเหลืองที่ใช้เพาะเห็ดฟางแล้ว
หมายเหตุ
1. การทำปุ๋ยหมักควรทำกองปุ๋ยให้สูงไม่น้อยกว่า100 เซนติเมตร
2. อาหารหมักที่นำไปใช้เพาะเห็ด ต้องไม่มีกลิ่นแอมโมเนียเหลืออยู่
เห็ดสกุลนางรมและเห็ดตีนแรด – ใช้อาหารได้ดีทั้งจากขี้เลื่อยและฟางหมัก โดยปรับความชื้นในอาหารเพาะ 60 – 70 เปอร์เซ็นต์
เห็ดหูหนู เห็ดยานางิ – ใช้อาหารเพาะจากขี้เลื่อยให้ผลผลิตดีโดยปรับความชื้นในอาหารเพาะ 60 – 70 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ยังมีวัสดุอื่นอีกหลายชนิด ที่สามารถนำมาใช้เพาะเห็ดสกุลนางรม นางฟ้า ได้ผลดี เช่น ชานอ้อย ซังข้าวโพด ขุยมะพร้าว เป็นต้น
วิธีการเพาะ
1. บรรจุอาหารเพาะลงในถุงพลาสติกทนร้อน กดให้แน่นตึง สูงประมาณ 2/3 ของถุง
2. รวบปากถุงบีบอากาศออกสวมคอพลาสติกหรือไม้ไผ่ แล้วพับปากถุงพาดลงมา รัดยางให้แน่น อุดด้วยสำลี หุ้ม ทับด้วยกระดาษหรือ ฝาครอบพลาสติก
3. นำไปนึ่งฆ่าเชื้อด้วยถังนึ่งไม่อัดความดัน หรือใช้หม้อนึ่งความดันอุณหภูมิ 90 – 100 องศาเซลเซียส เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง ทิ้งไว้ให้ถุงเย็น
4. นำถุงวัสดุออกมาใส่เชื้อจากหัวเชื้อเห็ดที่เลี้ยงในเมล็ดข้าวฟ่าง ถุงละ ประมาณ 10 – 15 เมล็ด ก็เพียงพอ (โดยเขย่าเมล็ดข้าวฟ่างให้กระจายออก) เปิดและปิดจุกสำลีโดยเร็ว โดยปฏิบัติในที่สะอาดมิดชิดไม่มีลมโกรก
5. นำไปวางในที่สำหรับบ่มเส้นใย มีอุณหภูมิตามที่เห็ดแต่ละชนิดต้องการ ไม่จำเป็นต้องมีแสง ไม่ต้องให้น้ำที่ก้อนเชื้อจนเส้นใยเห็ดเริ่มรวมตัวกันเพื่อเจริญเป็นดอกเห็ด นำไปเปิดถุงให้ออกดอกต่อไป
สถานที่ หรือโรงเรือนสำหรับปิดดอก
ควรเป็นสถานที่สะอาด สามารถรักษาความชื้นและการถ่ายเทอากาศได้ดี ไม่ร้อน ภายในอาจทำชั้นวางก้อนเชื้อเห็ดหรือใช้แป้นสำหรับแขวนก้อนเชื้อ โรงเรือนสำหรับเปิดดอกควรให้มีขนาดที่สัมพันธ์กับจำนวนของก้อนเชื้อ เพื่อรักษาความชื้น และการถ่ายเทอากาศภายในโรงเรือน เช่น ขนาดกว้าง x ยาว x สูง = 3 x 4 x 2.5 เมตร
การปฏิบัติดูแลรักษา
เห็ดนางฟ้า นางรม ฮังการี ภูฏาน และนางนวล ใช้เวลาเจริญในระยะเส้นใยประมาณ 1- 1.5 เดือน เมื่อเส้นใยเริ่มรวมตัวกันถอดสำลีและคอขวด นำก้อนเชื้อไปวางในโรงเรือนเพื่อให้เกิดดอก รักษาอุณหภูมิความชื้นสัมพัทธ์ การถ่ายเทอากาศ ตามที่เห็ดต้องการ การให้ความชื้นภายในโรงเรือนไม่ควรให้น้ำขังอยู่ภายในก้อนเชื้อ และไม่ควรให้ถูกดอกเห็ดโดยตรง ถ้าจำเป็นควรให้เป็นละอองเห็ดหูหนู ใช้เวลาในระยะเส้นใยประมาณ 1.5 – 2 เดือน จากนั้นถอดสำลีและคอขวด มัดปากถุงปิดไว้ กรีดข้างถุงเป็นระยะเพื่อให้เกิดดอก การให้ความชื้นสามารถให้น้ำที่ก้อนเชื้อและดอกเห็ดได้ ควรให้น้ำเบา ๆ มิฉะนั้นดอกเห็ดอาจจะช้ำและเน่าเสียได้ง่าย โรงเรือนควรมีการถ่ายเทอากาศที่ดี เห็ดเป๋าฮื้อใช้เวลาเจริญในระยะเส้นใยประมาณ 1.5 – 2 เดือน เมื่อเส้นใยถูกกระทบกระเทือนหรือถูกแสงมาก ๆ ทำให้เกิดเม็ดหรือตุ่มสีดำ ซึ่งถ้าเกิดมากจะทำให้ได้ผลผลิตน้อยลง วิธีการเปิดถุงให้ออกดอกและการดูแลรักษาปฏิบัติเช่นเดียวกับเห็ดนางฟ้า เห็ดตีนแรด ใช้เวลาเจริญในระยะเส้นใยประมาณ 2 – 2.5 เดือน เมื่อเส้นใยเริ่มรวมตัวเพื่อเกิดดอก มีวิธีการทำให้เกิดดอกดังนี้
1. ตัดปากถุง ใส่ดินร่วนผสมปูนขาว 1 % และน้ำให้ความชื้น 60 – 70 % ปิดทับก้อนเชื้อหนาประมาณ ½ นิ้ว
2. แกะพลาสติกออก บรรจุก้อนเชื้อเห็ดลงในหลุมที่ไม่มีน้ำขัง ลึกเท่ากับความสูงของก้อนเชื้อ เกลี่ยดินปิดหน้า ให้ความชื้น คลุมด้วยพลาสติกสูงจากพื้นประมาณ 50 เซนติเมตร คลุมทับด้วยฟาง หญ้าแห้ง หรือแฝกคากันแสงแดด
การเก็บผลผลิต
เห็ดนางรม นางฟ้า ฮังการี ภูฎาน นางนวล เป๋าฮื้อ เก็บเมื่อดอกบานเต็มที่ แต่ขอบหมวกยังไม่บานย้วยเห็ดหูหนู เก็บเมื่อดอกบานย้วยเต็มที่