สาขา หัตถกรรม
ชื่อภูมิปัญญาท้องถิ่น เครื่องจักสานทางสาคู
เจ้าของภูมิปัญญาท้องถิ่น นางดับ หนูเกลี้ยง
ความเป็นมา แรงบันดาลใจ
เพื่อนำวัสดุธรรมชาติที่มีอยู่ในหมู่บ้านมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น จากรุ่นสู่รุ่นให้คงอยู่ต่อไป
รายละเอียดของภูมิปัญญา
สาคูเป็นพืชที่ให้คุณประโยชน์กับชาวบ้าน ทั้งทางตรงและทางอ้อม อันเกี่ยวกับวิถีชีวิตวัฒนธรรมประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยเฉพาะการทำเครื่องจักสานจากทางสาคู เป็นการนำเอาทางสาคูมาลอก แล้วมาจักสานทำเป็นเสื่อ ฝาบ้าน ตะกร้า เครื่องมือหาปลา โดยทางสาคูแต่ละอันยาวประมาณ 3 – 4 เมตร ส่วนกาบขึ้นไปจะกลม และเรียวไปหาปลายทาง ตัดปลายทิ้งให้เหลือยาวประมาณ 1.5 – 2 เมตร นำมาลอกเอาเฉพาะส่วนเปลือกนอก ซึ่งเรียกว่าหน้าสาคูทำเป็นตอกใช้สานเสื่อ หรือทำเป็นแผงใช้สำหรับรองกุ้ง ปลา หรือผลไม้
วัตถุดิบ/อุปกรณ์
1. ทางสาคู
2. หวาย
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์
สาขา หัตถกรรม
ชื่อภูมิปัญญาท้องถิ่น การทำไม้กวาดจากทางมะพร้าว
เจ้าของภูมิปัญญาท้องถิ่น นายสร้วง หนูเกลี้ยง
ที่อยู่ 77/1 หมู่ที่ 4 ตำบลทุ่งโพธิ์ อำเภอจุฬาภรณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช 80130
ความเป็นมา แรงบันดาลใจ
ได้รับความรู้มาจากบรรพบุรุษ และเรียนรู้เองเพิ่มเติมจากสถานที่ต่าง ๆ ตอนแรกทำเพื่อใช้เองภายในครอบครัว เมื่อทำไปนาน ๆ เข้าก็มีคนมาติดต่อขอซื้อไปใช้และนำไปขายต่อ แล้วขยายวงกว้างไปสู่ตำบล อำเภออื่น ๆ เป็นการเพิ่มช่องทางหารายได้อีกทางหนึ่งหลังจากการทำสวน
รายละเอียดของภูมิปัญญา
วัสดุที่ใช้เป็นวัสดุธรรมชาติที่หาได้จากภายในหมู่บ้าน โดยเริ่มจากการนำก้านมะพร้าวมาเหลาเอาใบออก ให้เหลือแต่ก้านแล้วนำมาผึ่งแดดประมาณ 2 – 3 วัน เตรียมด้ามไม้ไผ่ จากนั้นก็ดำเนินการถักซึ่งต้องใช้ความละเอียด ขั้นตอนการทำมีดังนี้
1. ก้านมะพร้าวที่เหลาและผึ่งแดดให้แห้งสนิทแล้วนำมามัดรวมกันเป็นมัดเล็ก ๆ ประมาณ 6 มัด
2. จากนั้นตัดโคนก้านให้เป็นระเบียบเสมอกัน ส่วนไม้ไผ่ที่เตรียมไว้ให้นำมาตอกตะปูบริเวณปลายไม้ 2 จุด โดยแต่ละจุดควรห่างกันประมาณ 10 เซนติเมตร และที่สำคัญต้องตอกให้เหลือหัวตะปูโผล่ไว้ประมาณ 1 เซนติเมตร แล้วนำเชือกหรือลวดมามัดกับหัวตะปูด้สน
3. เสร็จแล้วให้เอาก้านมะพร้าวที่เราแบ่งไว้เป็นมัด ๆ มาล้อมปลายด้ามไม้ไผ่ โดยให้โคนก้านสูงกว่าตะปูกว่าตะปูเล็กน้อย แล้วนำเชือกหรือลวดที่เราผูกติดกับหัวตะปูไว้ทั้งสองจุดมามัดรอบก้านมะพร้าวให้แน่นชิดติดกัน
4. อาจมัดด้วยลวดทับอีกชั้นหรือตอกตะปูให้แน่น ป้องกันไม่ให้ทางมะพร้าวขยับขณะใช้งาน
5. สุดท้ายก็ทาสีน้ำมันกันสนิม จากนั้นตากแดดไว้ 2 – 3 วัน ก็จะได้ไม้กวาดทางมะพร้าวที่พร้อมใช้งาน
6. สำหรับวิธีการเก็บดูแลรักษาไม้กวาดทางมะพร้าว ไม่ควรกดด้ามไม้กวาดมากเกินไป เพราะจะทำให้ปลายก้านหักหรือโค้งงอ ส่วนตอนนำไปเก็บก็ให้ตั้งด้ามจับลงกับพื้น หากนำไปกวาดบริเวณที่มีน้ำขัง ควรตากแดดให้แห้งสนิทก่อนนำมาเก็บป้องกันการเกิดเชื้อราและไม่ให้ผุพังง่าย
วัตถุดิบ/อุปกรณ์
1. ก้านมะพร้าว ที่เหลาใบย่อยออกและผึ่งแดดแล้วประมาณ 300 – 350 ก้าน
2. ไม้สำหรับทำด้ามจับแนะนำไม้ไผ่ เพราะว่ามีน้ำหนักเบา แข็งแรง และตอกตะปูง่าย
3. เชือก
4. ลวด
5. มีด
6. ค้อน
7. คีมตัด
8. ตะปู
9. สีน้ำมันกันสนิม
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์