ฐานข้อมูลกลุ่มอาชีพและภูมิปัญญาท้องถิ่น

สาขา  ศิลปกรรม

ชื่อภูมิปัญญาท้องถิ่น  ผลิตกลองยาว

เจ้าของภูมิปัญญาท้องถิ่น  นายคะนึง  ศรีพรหม

ที่อยู่  220/4 หมู่ที่ 4 ตำบลทุ่งโพธิ์ อำเภอจุฬาภรณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช 80130

ความเป็นมา แรงบันดาลใจ

          เริ่มจากความชอบการแสดงกลองยาว ตอนเด็ก ๆ หากมีการแสดงที่ไหนก็จะตามไปไปดูตลอด จากนั้นจึงได้เริ่มฝึกการแสดงกลองยาวจนได้ร่วมเป็นสมาชิกของคณะกลองยาว และได้มีโอกาสไปแสดงตามงานต่าง ๆ ที่ได้รับการว่าจ้าง ทั้งภายในและนอกหมู่บ้าน จนกระทั่งมีความคิดที่อยากจะผลิตกลองยาวไว้ใช้ทดแทนกลองอันเก่าที่ชำรุดเสียหายไปตามกาลเวลา จากนั้นเริ่มมีการติดต่อขอซื้อกลองยาวที่ผลิตจากต่างหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัดต่าง ๆ สามารถสร้างเป็นรายได้ให้กับครอบครัวอีกทางหนึ่ง

รายละเอียดของภูมิปัญญา

            กลองยาวเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีประวัติความเป็นมาอันช้านาน บรรพบุรุษของชาวไทยได้คิดค้นการละเล่นต่างๆ ที่ต้องใช้กลองยาว ประกอบการให้จังหวะในการตี การเล่นกลองยาว เป็นการเล่นเครื่องดนตรีที่แสดงถึงความพร้อมเพรียงและความสามัคคีในหมู่คณะ เนื่องจากเป็นการเล่นที่ต้องการเสียงและจังหวะให้ความสนุกสนานเพลิดเพลิน สร้างความรักความสามัคคีในหมู่คณะ การเล่นกลองยาวเป็นเล่นที่นิยมอย่างแพร่หลายในจังหวัดต่างๆ โดยจะเล่นในขบวนแห่นาค ขบวนทอดผ้าป่า งานรื่นเริง ปัจจุบันมีการตีกลองยาวในงานต่างๆ เช่น ในวันสงกรานต์ งานวัด การทำกลองยาวมีรายละเอียดขั้นตอนดังนี้

ขั้นเตรียมการ

          1. ตัดต้นขนุนที่แก่ ๆ อายุประมาณ 20 ปี กำลังดี

          2. ตัดท่อนขนุนเป็นท่อน ๆ ท่อนละ 90 เซนติเมตร

          3. เลื่อยเปลือกหรือถากเปลือกออกให้รอบทุกท่อน

          ขั้นเตรียมการผลิต

          1. ขั้นตอนการทำเอวกลองและฐานกลองด้านล่าง

                    1.1 นำท่อนขนุนที่ถากเปลือกนอกออกแล้ว วัดตั้งแต่ขอบหน้ากลองลงไปประมาณ 1 ฟุต ใช้ดินสอขีดเส้นรอบไว้ ตั้งแต่ส่วนนี้เรียกว่าเอวกลอง

                    1.2 เริ่มถากตั้งแต่เอวลงไปถึงปลายฐานด้านล่าง โดยใช้ขวานโยนถากช่วงปลายฐานด้านล่างถากบานออกเพื่อสำหรับกลองวางได้ ความกว้างของหน้ากลองกับฐานกลองเท่ากัน

          ขั้นตอนขุดโพรงกลองยาว

                    2.1 เมื่อถากได้เอวกลองและฐานกลองเสร็จแล้ว วางไม้กลองตั้งขึ้น เพื่อวัดจุดศูนย์กลางของหน้ากลอง และวัดขอบกลองโดยใช้ไม้แบนวางบนหน้ากลอง ตอกตะปู 1 ตัวตรงกลาง และขอบริมหน้ากลอง 2 ตัว ตะปู 2 ตัว ที่ขอบห่างกันประมาณ 2 นิ้ว (ตอกตะปูให้ปลายตะปูโผล่ติดไม้หน้ากลอง)

                    2.2 หมุนไม้วัดให้รอบหน้ากลอง ปลายตะปูจะขีดหน้ากลองเป็นรอยเส้น ลึกพอประมาณ รอยเส้นจะมีที่ขอบ 2 เส้น และจุดกลาง 1 จุด

                    2.3 นำสิ่วและค้อน ขุดเนื้อตรงกลางหน้ากลองออก ขุดไปเรื่อย ๆ จนถึงขแบเส้นที่วัดไว้และขุดให้ลึกจนกระทั่งทะลุ ใช้สิ่วตัวเล็ก ไล่ไปตัวกลาง และตัวใหญ่สุด เพราะต้องขุดให้เป็นรูทะลุลงไปถึงฐานล่าง

                    2.4 เมื่อขุดทะลุแล้วส่วนนี้เรียกว่าโพรงกลองยาว ภายในต้องใช้เหล็กตะขอคมขูดให้เรียบ และสม่ำเสมอทุกส่วนจากด้านบนและจากด้านล่าง

                    2.5 เมื่อขูดในโพรงกลองเสร็จแล้วตกแต่งภายนอกโดยใช้กบไสให้ได้รูปทรงที่สวยงาม ขัดด้วยกระดาษทรายให้ผิวเรียบ

                    2.6 เมื่อขัดเสร็จแล้วเจาะตรงขอบเอวกลองให้มีความห่างประมาณ 1 นิ้ว แต่ละช่อง โดยใช้สิ่วเจาะให้ลึกพอประมาณเพื่อสำหรับไว้ร้อยเชือก ขัดกระดาษทรายละเอียดทาแล็คเกอร์ 1 ถึง 2 ครั้ง ทาเฉพาะผิวไม้ด้านนอก แต่งขอบฐานกลองโดยใช้อลูมิเนียมรัดเป็นวงกลมเพื่อไม่ให้ฐานกลองแตกร้าว

          ขั้นตอนการใส่หน้ากลองยาว

                    3.1 หนังวัวตากแดดให้แห้งสนิท นำหนังวัววัดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 15 นิ้ว ตัดเป็นวงกลม โดยให้เหลือขอบ

                    3.2 เจาะรูหนังวัวขอบที่เส้นขีดไว้ โดยใช้เหล็กเจาะตอกด้วยค้อนตะปู เจาะให้เป็นรูจนรอบวงกลม แต่ละรูห่างกันประมาณ 1 นิ้ว เจาะรู 2 แถว

                    3.3 เมื่อเจาะรูเสร็จแล้วนำเชือกมาร้อยโดยใส่เหล็กลวดเส้นเล็ก ระหว่างรูที่เจาะไว้ห่างกันประมาณ 1 นิ้ว ลวดใส่สำหรับยึดให้แข็งแรง

                    3.4 นำลวดมาทำเป็นวงกลมใส่รัดไว้ที่เอวกลอง จะมีบ่าไม้เพื่อไม่ให้ลวดเลื่อนหลุด ใส่ลวดรอบเอวกลองเพื่อสำหรับร้อยเชือกดึงยึดหน้ากลองให้ตึง

                    3.5 เมื่อใส่ลวดเองกลองเสร็จแล้วนำหน้ากลองที่สานเชือกขอบไว้เสร็จแล้ว วางไว้บนปากหน้ากลอง เพื่อร้อยเชือกดึงยึดหน้ากลองให้ตึง

                    3.7 เมื่อร้อยเชือกจนรอบกลองแล้ว นำกระดาษทรายละเอียดขัดหน้ากลองให้เรียบและสะอาด

          ขั้นตอนการทำให้กลองยาวมีเสียงดังที่ได้มาตรฐาน

                    4.1 เมื่อขัดหน้ากลองยาวเสร็จแล้ว ผสมขนมโก๋กับน้ำนวดให้เหนียวนิ่ม (สมัยโบราณใช้ข้าวสุกบดผสมขี้เถ้า) เพื่อสำหรับแปะหน้ากลอง และทดลองตีถ้าใส่มากเสียงจะใหญ่ใช้ไม่ได้ ถ้าใส่น้อยเสียงจะแหลมใช้ไม่ได้ ต้องใส่ในระดับพอประมาณ โดยทดลองตีและฟังเสียง (ถ้ากลองยาวไม่ได้นำไปใช้งานให้แกะขนมโก๋ที่แปะไว้ทุกครั้ง เพื่อไม่ให้แมลงแทะหน้ากลอง)

          ขั้นตอนการแต่งตัวให้กลองยาว

                    5.1 การแต่งตัวให้กลองยาว เพื่อความสวยงามโดยจะใส่เสื้อให้ ส่วนใหญ่จะเป็นแบบลวดลายเดียวกันทั้ง 7 ลูก และใส่สายสะพายตามที่ต้องการ เพื่อสำหรับไว้สะพายเวลาเดินตีกลองยาว

          ขั้นหลังการผลิต

                    6.1 ตรวจความละเอียดของชิ้นงานแต่ละชิ้นที่เสร็จสมบูรณ์

                    6.2 พร้อมนำมาใช้งาน

วัสดุดิบ/อุปกรณ์

          1. ต้นขนุนแก่ ๆ อายุประมาณ 20 ปี

          2. หนังวัว ใช้หนังวัวเพศเมีย เพราะหนังบางเสียงดี

          3. เชือก

          4. ขวานโยน หรือขวานถาก

          5. เลื่อย

          6. ตะขอ

          7. ค้อน

          8. สิ่ว ขนาดเล็ก กลาง และใหญ่

          9. กระดาษทราย

          10. ขนมโก๋

          11. แล็คเกอร์

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์

ดาวน์โหลดไฟล์

ติดต่อสอบถาม อบต.ทุ่งโพธิ์