สาขา หัตถกรรม
ชื่อภูมิปัญญาท้องถิ่น พัดใบกะพ้อ
เจ้าของภูมิปัญญาท้องถิ่น นางสุกานดา อักษรชู
ที่อยู่ 177/1 หมู่ที่ 5 ตำบลทุ่งโพธิ์ อำเภอจุฬาภรณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช 80130
ความเป็นมา แรงบันดาลใจ
ได้รับความรู้จากครูพักลักจำ และเรียนรู้เองเพิ่มเติมจากสถานที่ต่าง ๆ ที่มีชื่อเสียง เพื่อทำใช้ภายในครัวเรือน เหลือใช้ก็แบ่งขายเพื่อนบ้าน แล้วขยายวงกว้างไปสู่ตำบล อำเภออื่น ๆ เป็นการเพิ่มช่องทางการหารายได้อีกทางหนึ่งหลังจากการทำไรทำสวน
รายละเอียดของภูมิปัญญา
ใบกะพ้อส่วนที่นำมาจักสานเป็นพัดใบกะพ้อ คือส่วนที่เป็นยอดกลมยังไม่บานเป็นใบ จากลักษณะของใบกะพ้อซึ่งเป็นใบเลี้ยงเดียว มีก้านยาว ปลายก้านจะเป็นกระจุกแตกเป็นกลีบใบเล็ก แยกเป็นสองข้างๆ ละประมาณ 25 – 30 กลีบ กลีบใบแต่ละกลีบจะมีก้านกลีบเล็กๆ ริมกลีบใบจะติดกันประมาณ 4 – 5 กลีบ
ขั้นเตรียมวัสดุ
1. ตัดก้านใบห่างจากกระจุก ประมาณ 15 เซนติเมตร เหลาส่วนที่เป็นหนามออก
2. นำยอดใบกะพ้อที่ยังกลม มาคลี่ออก ตัดกลีบใบกลาง ห่างจากกระจุกประมาณ ๑๕ เซนติเมตร
3. ใช้มีดกรีดริมข้างกลีบใบที่ติดกันออก ให้เหลือส่วนกลีบใบ วัดจากก้านกลีบขนาด 1 เซนติเมตร
4. ส่วนที่กรีดไม่ได้ ให้ดึงแยกตามรอยกรีดจนถึงกระจุก จะได้กลีบใบที่มีขนาดเท่า ๆ กัน ประมาณข้างละ 20 – 25 กลีบ
5. นำใบพ้อที่กรีดเป็นกลีบเสร็จแล้วมาผึ่งแดด 2 วัน แล้วนำมาลวกน้ำร้อน ประมาณ 3 นาที แล้วผึ่งแดดอีก 3 วัน จะได้ใบกะพ้อที่แห้งสีขาว
6. หากต้องการพัดใบกะพ้อสีต่างๆ ก็นำไปย้อมสีตามความต้องการ
7. นำไปเก็บในถุงพลาสติกขนาดใหญ่ ป้องกันความชื้น
ขั้นก่อพัดใบกะพ้อ
1.นำใบกะพ้อที่เตรียมไว้มาพรมน้ำ ตั้งทิ้งไว้ ประมาณ 20 นาที จะทำให้กลีบใบนิ่ม สะดวกในการจักสาน
2. นับขนาดกลีบใบแต่ละข้างให้เท่ากัน ตามขนาดของพัดใบกะพ้อ ส่วนที่เหลือดึงออก (ขนาดใหญ่ ข้างละ 23 กลีบ ขนาดกลาง ข้างละ 18 กลีบ ขนาดเล็ก ข้างละ 15 กลีบ)
3. ผู้สานพัดใบกะพ้อนั่งบนเก้าอี้ สูงประมาณ 8 – 10 เซนติเมตร เข่าตั้งตรง วางเท้าหันปลายเท้าไปด้านหน้า
4. นำกลีบใบที่ดึงออก มาซ้อนกัน 3 คู่ ตั้งเรียงตามแนวนอน โดยให้ก้านกลีบอยู่ด้านบน ใช้ปลายเท้าข้างขวากดทับ
5. วางใบพ้อคว่ำลง ใช้ส้นเท้าด้านขวาทับที่ก้านใบ
6. นำกลีบใบอันนอกสุดหันด้านก้านกลีบไปทางขวา สอดเข้าในกลีบใบ ตามข้อ 4 สลับกันเป็นลายขัด
7. ดำเนินการตามข้อ 6 จนหมดกลีบใบ แต่ด้านซ้ายของกลีบใบอันกลางที่ตัด ให้หันก้านกลีบไปทางซ้าย
8. ตกแต่งกลีบใบที่ซ้อนกันตามข้อ 4 ให้กึ่งกลางอยู่ตรงกลีบใบกลางที่ตัด จัดเป็นมุมฉากให้มุมอยู่ที่จุดกึ่งกลาง
ขั้นขึ้นพัดใบกะพ้อ
1. หันปลายใบกะพ้อไปด้านหน้า วางปลายเท้าทั้งสองข้างใต้กลีบใบที่อยู่ในแนวนอน ก้านใบกะพ้ออยู่ระหว่างส้นเท้า
2. ใช้มือทั้งสองข้างยกกลีบใบอันที่อยู่ด้านล่างของกลีบใบที่ตั้งอยู่ในแนวนอน จนถึงกลางใบ
3. จับกลีบใบที่อยู่ในสุดของอีกข้างหนึ่ง สอดกลับมาทางกลีบใบที่ยก ตกแต่งให้สวยงาม
4. ดำเนินการ ตามข้อ 3 จนกลีบใบหมด ตกแต่งให้แน่น และให้ปลายรูปพัดอยู่ตรงกับก้านใบกะพ้อ
ขั้นเวียนพัดใบกะพ้อ
1. ตั้งพัดที่ได้ในขั้นขึ้นพัดใบกะพ้อในแนวนอน ให้ก้านใบกะพ้อหันไปทางขวา
2. ใช้กลีบใบอันซ้ายสุดสอดไปทางขวาตามลายขัด ตามความยาวของกลีบใบ หากมีกลีบใบส่วนที่เหลือ นำไปรวมที่ก้านใบกะพ้อ
3. ดำเนินการตามข้อ 2 จนหมดกลีบใบ ตกแต่งเป็นรูปใบโพธิ์ ครึ่งใบ
4. พลิกอีกด้านมาสานให้เหมือนกัน ตกแต่งเป็นพัดใบกะพ้อ รูปในใบโพธิ์ส่วนที่เหลือ
5. รวมกลีบใบที่เหลืองทั้งสองด้านมาที่ก้านใบ ตกแต่งให้เข้ารูปเป็นด้ามพัดใบกะพ้อ
6. ใช้กลีบใบกลางที่ตัดออกสอดระหว่างกลีบใบบริเวณกระจุกทั้งสองข้าง มัดกลีบใบเข้ากับก้านใบให้แน่น
7. นำไปผึ่งแดดจนแห้ง
ขั้นทำด้ามพัดใบกระพ้อ
1. ตัดด้ามพัดใบกะพ้อให้มีความยาวประมาณ 10 เซนติเมตร ดึงกลีบใบที่มัดด้ามพัดใบกะพ้อออก
2. ใช้พลาสติกบาง กว้างประมาณ 5 มิลลิเมตร สอดระหว่างกลีบใบบริเวณกระจุกทั้งสองข้าง
3. มัดกลีบใบเข้ากับก้านใบให้แน่น ตกแต่งด้วยความประณีต ยาวประมาณ 5 เซนติเมตร
4. ใช้เศษพลาสติกที่มัดกล่องสินค้า ตกแต่งให้มีความกว้าง 5 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 12 เซนติเมตร เป็นห่วงพัดใบกะพ้อ
5. สอดปลายห่วงพัดใบกะพ้อทั้งสองที่ปลายด้ามพัดใบกะพ้อ ให้ห่วงพัดใบกะพ้อมีขนาดประมาณ 3 เซนติเมตร
6. สอดทับพลาสติกบางพัดห่วงพัดใบกะพ้อจนรอบ แล้วมัดพลาสติกให้แน่นด้วยความประณีตความยาวของด้าม และห่วงพัดใบกะพ้อมีขนาดสมดุลกับขนาดของพัดใบกะพ้อ
วัตถุดิบ/อุปกรณ์
1. ยอดอ่อนต้นกะพ้อ
2. หวายและไผ่คลาน
3. หวายและผลิตภัณฑ์ใยสังเคราะห์
4. สีย้อม
5. มีดจักดอก
6. กรรไกรตัดแต่งพัดใบกะพ้อ
7. เหล็กแหลม
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์